ความเป็นมา
อิศรญาณภาษิตเรียกอีกอย่างว่า “เพลงยาวอิศรญาณ” เป็นพระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าอิศรญาณ ซึ่งเล่ากันว่าเป็นผู้มีพระจริตไม่ปกติ ครั้งหนึ่งพระองค์ได้ทำสิ่งวิปริตไปแล้วพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสบริภาษว่าเป็นบ้า ทำให้ใคร ๆ ก็พากันเห็นด้วยกับพระราชดำรัสนั้น ด้วยความน้อยพระทัยของหม่อมเจ้าอิศรญาณจึงทรงนิพนธ์เพลงยาวฉบับนี้ขึ้น
มีผู้สันนิษฐานว่าอิศรญาณภาษิตนี้ ไม่ใช่พระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าอิศรญาณแต่เพียงผู้เดียว หากแต่ทรงนิพนธ์ไว้เพียงตอนแรกเท่านั้น กล่าวคือ สันนิษฐานว่าทรงนิพนธ์ถึงวรรคว่า “ปุถุชนรักกับชังไม่ยั่งยืน” ซึ่งมีลีลาการแต่งไว้ด้วยน้ำเสียงเหน็บแนมประชดประชันอย่างรุนแรง ชัดเจนส่วนที่เหลือเป็นของผู้อื่นแต่งต่อ โดยเป็นการสอนเรื่องทั่ว ๆ ไป มีลีลาหรือท่วงทำนองแบบเรียบ ๆ มุ่งสั่งสอนตามปกติของผู้มีประสบการณ์ในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งได้นำมาเรียบเรียงไว้ทั้งหมด
ประวัติผู้แต่ง
หม่อมเจ้าอิศรญาณ (ไม่ทราบพระนามเดิม) เป็นโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ พระองค์ทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร ได้พระนามฉายาว่า อิสสรญาโณ มีพระชนม์ชีพอยู่ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ลักษณะคำประพันธ์
กลอนเพลงยาว ซึ่งขึ้นต้นด้วยวรรคสดับ (มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเพลงยาวอิศรญาณหรือภาษิตอิศรญาณ)
จุดประสงค์
๑. เพื่อสั่งสอน
๒. เพื่อเตือนใจให้คิดก่อนที่จะทำสิ่งใด
๓. สอนเกี่ยวกับการปฏิบัติตนต่อผู้อื่นในสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
เนื้อเรื่อง
อิศรญาณภาษิตมีเนื้อหาที่เป็นคำสั่งสอนแบบเตือนสติ และแนะนำเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติให้เป็นที่พอใจของผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจมากกว่า สอนว่าควรจะทำอย่างไรจึงจะอยู่ในสังคมได้โดยปราศจากภัยแก่ตน ทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จสมหวัง บางตอนก็เน้นเรื่องการเห็นคุณค่าและความสำคัญของผู้อื่นโดยไม่สบประมาทหรือดูแคลนกัน โดยทั้งนี้การสอนบางครั้งอาจเป็นการบอกตรง ๆ หรือบางครั้งก็สอนโดยคำประชดประชันเหน็บแนม เนื้อหาส่วนใหญ่จะสั่งสอนให้คนมีปัญญา ไม่หลงใหลกับคำเยินยอ สอนให้รู้จักคิดไตร่ตรองก่อนพูด รู้จักเคารพผู้อาวุโส รู้จักทำตามที่ผู้ใหญ่แนะนำ รู้จักกตัญญูผู้ใหญ่
คุณค่างานประพันธ์
คุณค่าด้านวรรณศิลป์ ใช้ถ้อยคำง่าย ๆ มาเรียงร้อยได้เหมาะเจาะและมีความหมายลึกซึ้ง
คุณค่าด้านสังคม ให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตเพื่อดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
No comments:
Post a Comment